การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
การอนุรักษ์ ( Conservation ) หมายถึง การรู้จักใช้ทรัพยากร อย่างชาญฉลาด ให้เป็นประโยชน์ต่อมหาชนมากที่สุด และใช้ได้เป็นเวลายาวนานที่สุด ทั้งนี้ต้องให้สูญเสียทรัพยากรโดยเปล่า ประโยชน์น้อยที่สุด และจะต้องกระจายการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรโดยทั่วถึงกันด้วย ฉะนั้น การอนุรักษ์จึงไม่ได้หมายถึงการเก็บรักษาทรัพยากรไว้เฉย ๆ แต่ต้องนำทรัพยากรมาใช้ประโยชน์ให้ถูกต้องตามกาละ เทศะ ( Time and Space ) อีกด้วย หลักการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาตินั้น มีหลัก 3 ประการ คือ (ชัชพล ทรงสุนทรวงศ์ , 2546)
1. ต้องใช้ทรัพยากรอย่างฉลาด กล่าวคือ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ถึงผลได้ผลเสียจากการใช้ทรัพยากรตามหลักเศรษฐศาสตร์ และเมื่อใช้แล้ว จะเกิดการขาดแคลนในอนาคตหรือไม่
2. ประหยัดของที่หายาก หมายความว่าทรัพยากรใดที่มีน้อยหรือหายากก็ควรเก็บรักษาหรือสงวนเอาไว้ไม่ให้สูญหายไป ของบางอย่างถ้าอยู่ในสภาพที่พอจะใช้ได้ก็ควรจะใช้ต่อไป และใช้อย่างประหยัดอย่าฟุ่มเฟือย
3. หาวิธีฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีหรือเสื่อมโทรมให้ดีขึ้น กล่าวคือ ทรัพยากรใดที่มีสภาพล่อแหลมต่อการสูญเปล่าหรือหมดไป ก็ควรที่จะซ่อมแซมหรือปรับปรุงให้อยู่ในสภาพที่ดีขึ้น
แนวทางในการดำเนินการเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
ในการดำเนินการเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาตินั้น มีแนวทางดำเนินการตามวิธีการต่าง ๆ ดังนี้ ( ชัชพล ทรงสุนทรวงศ์, 2546)
1. ให้การศึกษาแก่นักเรียนและประชาชน การศึกษาจะช่วยให้คนเข้าใจ เกิดความตระหนัก เกิดจริยธรรมที่ดีและไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ
2. ออกกฎหมายควบคุม เนื่องจากกฎหมายเป็นข้อบังคับที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติตาม การนำข้อบังคับทางกฎหมายเข้ามาช่วยควบคุม หรือบังคับให้ผู้ก่อให้เกิดมลพิษจำเป็นต้องปฏิบัติตาม ได้แก่ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ . ศ . 2535 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
3. การแบ่งเขต เป็นการแบ่งเขตพื้นที่ตามประเภทของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ สาเหตุที่ใช้การอนุรักษ์แบบแบ่งเขต เนื่องจากวิธีการให้ความรู้และการใช้กฎหมายไม่ได้ผล หรือต้องการจะแบ่งเขตให้ชัดเจนเพื่อให้การอนุรักษ์ได้ผล และจะต้องมีการสร้างมาตรการกำกับในเขตที่แบ่งนั้นด้วย เช่น เขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เมืองควบคุมมลพิษ
4. การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เนื่องจากการใช้ทรัพยากรเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีและทำให้มีมลพิษเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันเราสามารถใช้เทคโนโลยีในการบำบัดหรือกำจัดของเสียที่เกิดขึ้นได้ แต่ต้องเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการกำจัดมลพิษแต่ละชนิด
5. จัดตั้งชมรมหรือสมาคมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติขึ้นในสถานศึกษา โดยมีกลุ่มนักศึกษาที่สนใจร่วมกันจัดตั้งขึ้น เพื่อช่วยกันอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรม ซึ่งจัดว่าเป็นกลุ่มที่บำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมส่วนรวม
6. การโฆษณาทางวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนต่าง ๆ เพราะการดำเนินการผ่านสื่อมวลชน จะทำให้ประชาชนทราบข่าวอย่างกว้างขวางและเข้ามามีส่วนร่วมได้มาก และยังเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเอาไว้ตลอดจนเข้าใจบทบาทและหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
7. การตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทำหน้าที่ประสานงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการอิสระในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทุกชนิด นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นให้หน่วยงานอื่น ๆ ที่รับผิดชอบได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐ หรือตามกฎหมายเพื่อการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติต่อไป
วันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
เพื่อเป็นการระลึกถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมมือระหว่างชาติทั่วโลก จึงได้มีการกำหนดให้วันแรกของการประชุม คือ วันที่ 5 มิถุนายน เป็น "วันสิ่งแวดล้อมโลก" (World Environment Day)พร้อมทั้งได้จัดตั้ง "โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ" หรือเรียกย่อว่า "ยูเนป"(UNEP : United Nation Environment Programe) ขึ้น ซึ่งรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ก็ได้รับข้อตกลงจากการประชุมคราวนั้น และจัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตน ซึ่งในปี 2547 โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาติ ได้กำหนดหัวข้อการรณรงค์ เพื่อใช้ร่วมกันทั่วโลกว่า
Wanted ! Sea and Oceans - Dead or Live ? "ร่วมพิทักษ์ ร่วมรักษ์ทะเลไทย"
ในหลวงกับการอนุรักษ์ฯ
ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่มีความสำคัญที่มักจะเกิดควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจและความเจริญก้าวหน้า ซึ่งเป็นปัญหาร่วมกันของทุกประเทศ กล่าวคือ การพัฒนายิ่งรุดหน้าปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและภาวะมลพิษก็ยิ่งก่อตัวและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่กำลังประสบกับปัญหาดังกล่าวอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ แต่ไม่ได้มีการวางแผนการจัดการที่เหมาะสมรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติที่เหลืออยู่มีสภาพเสื่อมโทรมลง และปัญหาต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อมก็เพิ่มขึ้น ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและระบบนิเวศ จึงทรงให้มีการดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวิธีการที่จะทำนุบำรุงและปรับปรุงสภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดีขึ้นในด้านต่าง ๆ โดยในด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น ทรงเน้นงานการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของปัญหาน้ำเน่าเสีย
พระราชดำริ พระราชกรณียกิจ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญได้แก่ หลักการ "น้ำดีไล่น้ำเสีย" หลักการบัดน้ำเสียด้วยผักตบชวา ทฤษฎีการบำบัดน้ำเสียด้วยการผสมผสานระหว่างพืชน้ำกับระบบการเติมอากาศ ทฤษฎีการบำบัดน้ำเสียด้วยระบบบ่อบำบัดและวัชพืชบำบัด และ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" ซึ่งมีสาระโดยสรุปดังนี้คือ
๑) ทฤษฎี "น้ำดีไล่น้ำเสีย" ได้ทรงนำหลักการบำบัดน้ำเสียโดยการทำให้เจือจางตามแนวทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ "น้ำดีไล่น้ำเสีย" โดยใช้หลักการตามธรรมชาติแห่งแรงโน้มถ่วงของโลก เป็นการใช้น้ำคุณภาพดีมาช่วยบรรเทาน้ำเน่าเสีย ดังพระราชดำรัสเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ในอำเภอธัญบุรี เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๒
"…แต่ ๓,๐๐๐ ไร่นั่นมันอยู่สูง จะนำน้ำโสโครกจากที่นี่ไปที่โน้นต้องสูบไปไม่ไหว แต่ว่าจะทำเป็นบึงใหญ่ที่จะเก็บน้ำได้สำหรับเวลาหน้าน้ำมีน้ำเก็บเอาไว้ หน้าแล้งก็ปล่อยลงมา ส่วนหนึ่งอาจปล่อยลงมาสำหรับล้างกรุงเทพ ได้เจือจางน้ำโสโครกในคลองต่างๆ…" (สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม, ๒๕๓๔: ๓๑-๒)
๒) การบำบัดน้ำเสียด้วยผักตบชวา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยในการปรับปรุงคุณภาพของแหล่งน้ำที่มีอยู่แล้ว เช่น บึงและหนองต่างๆ เพื่อทำเป็นแหล่งบำบัดน้ำเสีย โดยหนึ่งในจำนวนนั้นได้แก่ โครงการบึงมักกะสันอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีหลักการบำบัดน้ำเสีย ตามแนวทฤษฎีการพัฒนาโดยการกรองน้ำเสียด้วยผักตบชวา
๓) การบำบัดน้ำเสียด้วยการผสมผสานระหว่างพืชน้ำกับระบบเติมอากาศ ด้วยทรงห่วงใยในปัญหาน้ำเน่าเสียที่เกิดขึ้นในหนองหนองหาน จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นแหล่งรับน้ำเสียจากครัวเรือนในเขตเทศบาลเมืองสกลนคร ที่มีสภาพเกินขีดความสามารถในการรองรับของเสีย พระบาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชทานแนวพระราชดำริ ทฤษฎีการบำบัดน้ำเสียด้วยการผสมผสานระหว่างพืชน้ำกับระบบการเติมอากาศ ณ บริเวณหนองสนม-หนองหาน จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างวิธีธรรมชาติกับเทคโนโลยีแบบประหยัด โดยมีกรมประมงร่วมกับกรมชลประทานดำเนินการศึกษาและก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียในบริเวณดังกล่าว โดยมีระบบบำบัดด้วยพืชน้ำซึ่งเป็นวิธีการบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีธรรมชาติในพื้นที่ ๘๔.๕ ไร่ และได้มีการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ (สำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, ๒๕๓๙: ๒๒๒)
๔) การบำบัดน้ำเสียด้วยระบบบ่อบำบัดและวัชพืชบำบัด โครงการวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงปัญหาภาวะมลพิษที่มีผลต่อการดำรงชีพของประชาชน อันเนื่องมาจากชุมชนเมืองต่างๆ ยังขาดระบบบำบัดน้ำเสียและการกำจัดขยะมูลฝอยที่ดีและมีประสิทธิภาพ จึงทรงให้มีการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวขึ้นในพื้นที่ ๑,๑๓๕ ไร่ โดยเป็นโครงการศึกษาวิจัยวิธีการบำบัดน้ำเสีย กำจัดขยะมูลฝอยและการรักษาสภาพป่าชายเลนด้วยวิธีธรรมชาติ
๕) กังหันน้ำชัยพัฒนา ในปัจจุบัน สภาพมลภาวะทางน้ำมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องกลเติมอากาศเพิ่มออกซิเจนเพื่อการบำบัดน้ำเสีย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับอุปกรณ์การเติมอากาศ และทรงค้นคิดทฤษฎีบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการเติมอากาศ โดยใช้วิธีทำให้อากาศสามารถละลายลงไปในน้ำเพื่อเร่งการเจริญเติบโตและการเพาะตัวอย่างรวดเร็วของแบคทีเรียจนมีจำนวนมากพอที่จะทำลายสิ่งสกปรกในน้ำให้หมดสิ้นไปโดยเร็ว ตามแนวทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" ซึ่งเป็นรูปแบบสิ่งประดิษฐ์ที่เรียบง่าย ประหยัด เพื่อใช้ในการบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากแหล่งชุมชนและแหล่งอุตสาหกรรม และได้มีการนำไปใช้งานทั่วประเทศ (สำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, ๒๕๓๙: ๒๑๘-๙)
๖) การกำจัดน้ำเสียโดยวิธีธรรมชาติ ทรงมีพระราชดำริให้ทำการศึกษา ทดลองวิจัยดูว่า จะใช้ปลาบางชนิดกำจัดน้ำเสียได้หรือไม่ ปลาเหล่านี้น่าจะเข้าไปกินสารอินทรีย์ในบริเวณแหล่งน้ำเสีย ซึ่งปรากฎว่าปลาบางสกุลมีอวัยวะพิเศษในการหายใจ เช่น ปลากระดี่ ปลาสลิด เหมาะแก่การเลี้ยงในน้ำเสีย และชอบกินสารอินทรีย์ จึงช่วยลดมลภาวะในแหล่งน้ำ วิธีการนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการกำจัดน้ำเสียได้ ซึ่งจะมีต้นทุนต่ำ และสามารถเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำได้อีกทางหนึ่ง (สำนักงาน กปร., ๒๕๓๑: ๕๒)
วิธีการรักษาสิ่งแวดล้อม
- ใช้ผ้าแทนกระดาษทิชชูเราใช้กระดาษทิชชูเช็ดมือ เช็ดหน้า ปีละหลายล้านฟุต ซึ่งหมายถึง การโค่นต้นไม้ลงจำนวนมหาศาล ช่วยกันลดการใช้กระดาษทิชชูด้วยการวางผ้ามือไว้ใกล้อ่างล้างมือ แล้วใช้ผ้าเช็ดโต๊ะแทนการใช้กระดาษทิชชูเช็ด
- ใช้ถุงพลาสติกซ้ำหลาย ๆ ครั้ง
ประหยัดถุงพลาสติกได้โดยการใช้ซ้ำหลาย ๆ ครั้ง หากถุงพลาสติกสกปรก ก็ให้ทำความสะอาดแล้วแขวนไว้ให้แห้ง เพื่อส่งกลับเข้าโรงงานสำหรับผลิตใหม่ - แยกทิ้งเศษกระดาษจากขยะอื่น
โปรดหลีกเลี่ยงการทิ้งเศษกระดาษลงในถังกับขยะอื่น ๆ เพราะจะทำให้กระดาษเปรอะเปื้อนไขมัน และเศษอาหารจะทำให้เศษกระดาษนั้นนำไปผลิตใหม่อีกไม่ได้ - กระดาษที่นำไปรีไซเคิลไม่ได้
กระดาษที่ไม่สามารถนำไปเข้ากระบวนการผลิตใหม่เป็นกระดาษใช้ได้อีก ได้แก่ กระดาษที่เคลือบด้วยขี้ผึ้ง กระดาษที่เข้าเล่มด้วยกรรมวิธีการละลายโดยใช้ความร้อน เช่น สมุดโทรศัพท์ นิตยสารต่าง ๆ ตลอดจนกระดาษที่ถูกเปรอะเปื้อนด้วยการชนิดที่ไม่ละลายน้ำ - หนังสือพิมพ์สามารถแก้ไขปัญหา ขยะกระดาษ
แหล่งสร้างขยะกระดาษที่สำคัญก็คือหนังสือพิมพ์ หน้าที่เป็นขยะกระดาษโดย ผู้อ่านไม่ได้อ่าน ก็คือหน้าโฆษณาธุรกิจ ซึ่งมีอยู่ฉบับละหลาย ๆ หน้า ซึ่งแม้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับหนังสือพิมพ์ แต่ ควรคำนึงว่า นั่นคือ การทำลายกระดาษสะอาด และสร้างขยะกระดาษให้เกิดขึ้นจำนวนมหาศาลในแต่ละวัน - เศษหญ้ามีประโยชน์
เศษหญ้าที่ถูกทิ้งอยู่บนสนามนั้น สามารถให้ประโยชน์ต่อสนามหญ้าได้มาก เพราะในเศษหญ้านั้น มีธาตุอาหาร ที่มีคุณค่าเทียบเท่ากับปุ๋ย ที่ใช้ใส่หญ้าทีเดียว - ใช้เศษหญ้าคลุมไม้ใหญ่
เศษหญ้าที่ตัดจากสนามและสวนนั้น สามารถนำไปคลุมต้นไม้ใหญ่ได้ การใช้เศษหญ้าปกคลุมพืชในสวนจะช่วยในการกำจัดวัชพืชได้เพราะวัชพืช จะไม่สามารถแทงลำต้นผ่านเศษหญ้าได้ นอกจากนี้เมล็ดของวัชพืชที่ร่วงหล่นก็ไม่อาจหยั่งรากทะลุผ่านเศษใบไม้ได้ด้วย - ประโยชน์ของพลาสติกช่วยถนอมอาหาร
พลาสติกทุกชนิดหากถูกไฟไหม้ จะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตราย ได้มีการรณรงค์ให้เลิกใช้พลาสติก แต่จริง ๆ แล้ว พลาสติกยังคงมีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันโดยเฉพาะพลาสติก มีประโยชน์ในการถนอมอาหารให้สดอยู่ได้ เป็นเวลานาน ๆ - พลาสติกรีไซเคิล
ปัจจุบันมีบริษัทกว่า 200 แห่ง ในอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกได้ทำการรีไซเคิลพลาสติก จำนวน 20% จากขวดเครื่องดื่ม พลาสติกที่ทำจาก Polyethylene Terephthalate หรือ PET จะถูกนำไปรีไซเคิล เป็นด้ามเครื่องจับไฟฟ้า กระเบื้องปูพื้น เส้นใยสังเคราะห์ในหมอน ถุงนอน หรือใช้บุเสื้อแจ็คเก็ต - พลาสติกรีไซเคิล (2)
ภาชนะพลาสติกที่ใส่น้ำผลไม้และนมนั้นทำมาจากพลาสติกชนิด Polyethylene ที่มีความเข้มข้นมากเมื่อใช้แล้วได้ถูกนำมารีไซเคิลทำเป็นท่อพลาสติก กระถางต้นไม้ เก้าอี้พลาสติก
การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฉลาดโดยใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนเป็นจำนวนมากที่สุดเป็นระยะเวลานานที่สุด และต้องสงวนรักษาไว้ไม่ให้มีการใช้อย่างฃสุรุ่ยสุร่ายการอนุรักษ์จึงหมายถึงการควบคุมและจัดการมรัพยากรอย่างระมัดระวังเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์ต่อไป ดังนั้นการอนุรักษ์จึงเป็นการรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อมด้วย
หลักการอนุรักษ์ทรัพยากรโดยทั่วไป ในการอนุรักษ์ทรัพยากรโดยทั่วไปจะต้องคำนึงถึง วัตถุประสงค์ 2 ประการ
1. ให้เกิดสวัสดิภาพแก่สังคม(Human welfare)
2. ให้คงไว้ซึ่งคุณภาพและปริมาณของทรัพยากรธรรมชาติ (Maintainance of The quantity and quality of natural resources)
มาตรฐานในการอนุรักษ์ทรัพยากรโดยทั่วไป
1. มาตรการในการอนุรักษ์ทรัพยากรโดยตรง
1.1 การถนอม(Presenvation) หมายถึง การถนอมทรัพยากรให้สามารถใช้ไปได้นาน เช่นการสร้างเขื่อนหรือฝายสำหรับเก็บกักน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง การเก็บรักษาสัตว์น้ำด้วยการแช่แข็ง การประกาศเขตป่าสงวน หรือเขตการรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อการคงอยู่ของป่าไม้ และสัตว์ป่า เป็นต้น
1.2 การบูรณะ(Restoration) หมายถึง การพัฒนาทรัพยากรเสื่อมคุณภาพให้มีสภาพดีขึ้น สามารถนำมา
ใช้ประโยชน์ได้เช่น การบูรณะวัด การกำจัดน้ำเสีย การแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรม
1.3 การปรับปรุง(Benificiation) หมายถึง การปรับปรุงทรัพยากรที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ หรือใช้ประโยชน์ได้น้อย ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นกว่าเดิม เช่น การปรับปรุงพื้นที่ ดินเปรี้ยวหรือดินเค็มให้สามารถเพาะปลูกได้หรือให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
1.4 การผลิตและใช้อย่างมีประสิทธิภาพ(Efficient Production and Use) เช่น นำเอาชานอ้อย
หรือเศษไม้มาทำไม้อัด
1.5 การนำกลับมาใช้ใหม่(re-use) เป็นการนำทรัพยากรที่ใช้แล้วมาดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ใหม่หรือ
ใช้ประโยชน์อย่างอื่น
1.6 การใช้สิ่งทดแทน(Substitution) หลักการโดยทั่วไปจะใช้ทรัพยากรที่มีมากหาได้ง่ายแทนทรัพยากร
ที่มีน้อยหรือมีจำกัด เช่น ใช้วัสดุอื่นแมนไม้ เช่น Concrete, Aluminum แทนเหล็ก ใช้ Plastic แทนเหล็ก etc
1.7 ตรวจสอบและการประดิษฐ์(Inventories and Investigations) โดยการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือ
เพื่อตรวจสอบคุณภาพและปริมาณ แหล่งกำเนิดตลอดจนคุณสมบัติและความสำคัญของทรัพยากรแต่ละอย่าง
เพื่อจะได้วางแผนการใช้ได้อย่างถูกต้องรัดกุม เช่น การสำรวจแหล่ง และปริมาณ Petroleum,Potash,etc.
2. มาตรการอนุรักษ์ทางสังคม
การอนุรักษ์ทรัพยากรมิใช่เป็นเพียงความรับผิดชอบของรัฐบาลแต่ละประเทศเท่านั้นประชาชนทุกคนจะต้องมีความตระหนัก(Awareness) ถึงความรับผิดชอบที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้การอนุรักษ์ เป็นไปตามประสงค์ ในแต่ละประเทศจึงมีแนวปฏิบัติหรือมาตรการอนุรักษ์ทางสังคมเข้าเสริมการอนุรักษ์
ทรัพยากรโดยตรงอีกทางหนึ่ง ดังนี้
2.1 จัดตั้งหน่วยงานหรือองค์กรที่ส่งเสริมการอนุรักษ์ เช่น การจัดตั้งสมาคมนิยมไพร ชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นต้น
2.2 ให้การศึกษาอบรมเกี่ยวกับ การอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชนทุกระดับ เพื่อให้รู้จัก
วิธีการอนุรักษ์ และรู้จักหวงแหนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
2.3 การออกกฎหมายควบคุมดูแลหรืออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
2.4 การใช้สื่อประเภทต่างๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ Internet โดยนำความรู้ด้านการอนุรักษ์เผยแพร่ให้กับประชาชน เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับทรัพยากร
2.5 ส่งเสริมการฝึกอบรมและการวิจัยด้านการประดิษฐ์ ด้านระบบนิเวศน์ และการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม