จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

นักสืบสิ่งแวดล้อม

นัก-สืบ-สิ่ง-แวด-ล้อม เหรอ  มันคืออะไรนะ ?

ภาพประกอบนักสืบสิ่งแวดล้อม

         
                ใครๆ ก็เคยได้ยินแต่ “นักสืบ” – ผู้ชำนาญในการสืบสวนหาข่าว คอยหาเบาะแสต่างๆ เก็บข้อมูล  ถ่ายรูป และอื่นๆ เพื่อรวบรวม ประมวลเป็นเรื่องราวหรือลำดับเหตุการณ์ลึกลับที่เกิดขึ้น แต่ไม่ค่อยมีใครรู้หรือเข้าใจกระจ่าง
“นักสืบสิ่งแวดล้อม” ก็ทำอย่างนั้นเหมือนกัน แต่เป็นการเสาะหาเบาะแสตามแม่น้ำลำธาร ชายหาด หรือกระทั่งตามต้นไม้ เพื่อ “อ่าน” สภาพความเป็นไปของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าน้ำ หาด อากาศ ฯลฯ รอบตัวของเรายังมีคุณภาพดีหรือแย่มากน้อยขนาดไหน
ที่จริง คนรุ่นก่อนๆ ก็อ่านธรรมชาติได้  เพียงแค่ดูปลาที่ลอยตัวที่ผิวน้ำว่าเป็นชนิดใด ก็ประเมินได้ว่าน้ำกำลังสะอาดหรือเริ่มเน่าเสีย  แต่พอเวลาผ่านไป ความรู้เรื่องธรรมชาติก็ค่อยๆ เลือนหายไป จนเหลือน้อยคนนักที่จะเข้าใจเรื่องเหล่านั้น
มูลนิธิโลกสีเขียวได้เริ่มคิดอ่านทำกระบวนการ “นักสืบสิ่งแวดล้อม” มากว่า 10 ปีแล้ว ด้วยความตั้งใจจะให้คนธรรมดาทั่วไปสามารถ “อ่านธรรมชาติ” เองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาความรู้วิทยาศาสตร์ที่ซับซ้อนหรืออุปกรณ์ราคาแพง แต่อาศัยการสำรวจสิ่งมีชีวิตที่อยู่ด้วยกันเป็นสังคมในสภาพธรรมชาตินั้นๆ เพื่อที่ทุกคนจะได้รู้จักดูแลและเฝ้าระวังสิ่งแวดลัอมและธรรมชาติในละแวกบ้าน ชุมชน หรือท้องถิ่นด้วยตัวเองจริงๆ 
ภาพประกอบนักสืบสิ่งแวดล้อม
กระบวนการ “นักสืบสายน้ำ” อ่านสุขภาพสายน้ำลำธารว่าสะอาดมาก-น้อย จากสังคม “สัตว์เล็กน้ำจืด” หรือตัวอ่อนแมลงที่อาศัยอยู่ตามก้อนหิน พื้นทราย และระบบนิเวศต่างๆ ในท้องน้ำ
กระบวนการ “นักสืบชายหาด” สำรวจสุขภาพชายหาดว่าดีหรือย่ำแย่ จากความหลากหลายของสัตว์และพืชที่อาศัยอยู่ตามชายหาด ไม่ว่าจะเป็นหาดเลน หาดทราย หรือหาดหิน
กระบวนการ “นักสืบสายลม” รู้ว่าคุณภาพอากาศรอบตัวเราดีหรือมีมลพิษ จาก “ไลเคน” สิ่งมีชีวิตสุดพิเศษที่เกิดจากการพึ่งพากันของรากับสาหร่าย เกาะอยู่ได้ในทุกหนแห่งเกือบทั่วโลก ตั้งแต่เปลือกไม้ หิน กระทั่งยางรถยนต์ที่ถูกทิ้งไว้
ตัวอ่อนแมลง สัตว์และพืชชายหาด และไลเคน เป็นตัวอย่างของ “ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ” ที่ทำให้เราอ่านสุขภาพของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออก เหมือนอย่างที่เราอ่านหนังสือออกเพราะรู้จัก ก ข ก. กา และไวยากรณ์ของมัน  ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ต่างก็ทำได้เหมือนๆ กัน
ที่จริง เราทุกคนมีสิทธิ์จะรู้ว่าคุณภาพของสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราดีหรือย่ำแย่ขนาดไหน เพราะธรรมชาติทุกอย่างล้วนสัมพันธ์กับสุขภาพของเรา  จะดีหรือไม่ดีอย่างไร เราจะได้ดูแลรักษา หรือลงมือแก้ไขได้ทันท่วงที  และถ้าชักชวนคนในชุมชนให้มาช่วยกันได้ ก็ยิ่งดีใหญ่
เพราะที่ไหนที่ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ พืชสัตว์อยู่กันหลากหลาย คนเราก็อยู่สบายด้วยเหมือนกัน
ภาพประกอบนักสืบสายน้ำ

Thousands have lived without loved; Not one without water. – W. H. Auden
คนเราอยู่กันมานัก แม้ขาดรัก ไม่มีใครสักคนอยู่ได้หากขาดน้ำ – ดับเบิลยู เอช ออเดน กวีชาวอังกฤษ
น้ำสำคัญต่อทุกชีวิตบนโลกขนาดนี้ แต่เรากลับไม่ให้ความสำคัญต่อน้ำและสายน้ำอย่างไม่น่าเชื่อ ต้นน้ำหลายแห่งแห้งเหือดเพราะป่าถูกทำลาย แม่น้ำลำธารหลายสายกำลังเน่าเสียเพราะมลพิษ และมีอีกมากมายที่ถูกมนุษย์ปรับแต่งให้ตรง ดาดซีเมนต์ริมฝั่ง สร้างเขื่อนกันน้ำ หรือผันน้ำไปยังลำน้ำอีกสายหนึ่ง จนเป็นเหตุให้ระบบนิเวศเสียหายและพังทลายในที่สุด
แม่น้ำลำธารไม่ใช่แค่ทางให้น้ำไหลไป แต่เป็นทั้งที่อยู่อาศัยของพืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิตมากมายหลากหลาย ทั้งยังเป็นเส้นทางให้สารอาหารไหลจากแผ่นดินไปหล่อเลี้ยงชีวิตชายฝั่งและในทะเล ราวกับเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงร่างกาย คำว่า “แม่น้ำลำธารเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงแผ่นดิน” จึงไม่ใช่คำที่พูดให้ฟังดูเก๋เท่านั้น พิจารณาดูดีๆ จะพบว่ามันเป็นความจริงทีเดียว
ถ้าเส้นเลือดสุขภาพดี ร่างกายของเราย่อมสบายดี
ถ้าแม่น้ำลำธารสุขภาพดี ชีวิตต่างๆ ทั้งพืช สัตว์ รวมทั้งมนุษย์ ก็แข็งแรงสุขภาพดีไปด้วย
ราวปี 2539-2546 มูลนิธิโลกสีเขียวริเริ่มทำ "โครงการนักสืบสายน้ำ" ชักชวนให้เด็กและผู้ใหญ่สามารถ "อ่านสุขภาพ" สายน้ำลำธารจากสังคม "สัตว์เล็กน้ำจืด" หรือตัวอ่อนแมลงน้ำที่อาศัยอยู่ตามก้อนหินพื้นทรายใต้ท้องน้ำ ซึ่งใช้เป็นตัวบ่งชี้คุณภาพน้ำด้วยวิธีทางชีวภาพได้ โดยประเมินร่วมกับลักษณะทางกายภาพอื่นๆ ของสายน้ำ เช่น พงพืชริมฝั่ง ลักษณะความคดเคี้ยว สี อุณหภูมิและความเร็วของน้ำ สังคมสัตว์ริมฝั่ง เป็นต้น
ในช่วงเวลาดังกล่าว โครงการนักสืบสายน้ำได้จัดอบรมกระบวนการนักสืบสายน้ำให้กับนักเรียนและครูในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน จำนวน 51 โรงเรียน โดยครูและนักเรียนร่วมกับโครงการฯ ได้ช่วยกันออกสำรวจคุณภาพสายน้ำของแม่น้ำปิงและสาขา และนำเสนอข้อมูลสู่สาธารณะในปี พ.ศ. 2544
นอกจากนี้ โครงการฯ ยังจัดทำ "ชุดคู่มือนักสืบสายน้ำ" และ "ชุดนักสืบสายน้ำน้อย" เพื่อเป็นคู่มือสำรวจและประเมินคุณภาพน้ำอย่างง่าย มีประสิทธิภาพ และราคาถูก เน้นให้ผู้ใช้คิดวางแผนสำรวจและทำกิจกรรมเองได้
  
แม้โครงการจะสิ้นสุดไปแล้ว แต่นักสืบสายน้ำยังคงเป็นกิจกรรมที่แพร่หลายไปทั่วทุกภาคของประเทศ เพราะเป็นกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษาที่ครูสามารถบูรณาการสู่การเรียนการสอนได้แทบทุกวิชา และยังเป็นกระบวนการสำรวจประเมินคุณภาพน้ำร่วมกับวิธีการทางเคมีได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบัน มีเด็กและผู้ใหญ่มากมายผ่านกระบวนการนักสืบสายน้ำ เรียนรู้จักความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์เล็กน้ำจืดที่อาศัยอยู่ในลำน้ำ ได้เฝ้าระวังและตรวจคุณภาพน้ำ ดูแลสายน้ำในท้องถิ่น ตลอดจนถ่ายทอดกระบวนการนักสืบสายน้ำสู่เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องตลอดมาเป็นเวลากว่าทศวรรษแล้ว
        กิจกรรมนักสืบสายน้ำ กิจกรรมนักสืบสายน้ำ กิจกรรมนักสืบสายน้ำ
ภาพประกอบนักสืบสายลม

ใครๆ ก็รู้ว่าอากาศสำคัญกับชีวิตเราขนาดไหน เราอาจอดอาหารได้นาน 3 เดือน หรืออดน้ำได้ 3 วัน แต่ถ้าเราขาดอากาศเกิน 3 นาที เราตายแน่
อากาศผ่านเข้าออกร่างกายเราตลอดเวลา ทุกลมหายใจ แต่ในเมืองใหญ่มีคนมากมายอย่างกรุงเทพมหานคร อากาศดีๆ ไม่ค่อยมีให้สูด
อากาศกทม. ปนเปื้อนด้วยมลพิษต่างๆ ทั้งจากท่อไอเสียรถยนต์ จากปล่องโรงงานอุตสาหกรรม ฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง การเผาขยะ รวมทั้งสารเคมีการเกษตรในบางพื้น ออกจากบ้านไปไหนๆ ไม่นาน ผมเราก็เหม็นสกปรก ผิวหนังคันยิบๆ ขี้มูกดำปี๋ และเหม็นควันจนแทบเป็นลม ทั้งหมดเป็นสัญญาณหยาบๆ ที่มนุษย์อย่างเรารู้สึกได้เมื่อคุณภาพอากาศแย่สุดทน
แต่ที่จริง เรามีทางรู้ถึงคุณภาพอากาศได้ละเอียดกว่านั้นด้วยการสังเกตสิ่งมีชีวิตประเภทหนึ่งที่เรียกว่า “ไลเคน” ดูเผินๆ ไลเคนเหมือนเป็นรอยด่างดวงหรือโรคที่มักขึ้นอยู่ตามเปลือกไม้ ถ้าดูดีๆ ไลเคนคือสิ่งมีชีวิตกึ่งรากึ่งสาหร่าย ไลเคนบอบบางเพราะรับมลพิษได้ง่าย ไม่เหมือนพืชหรือต้นไม้ที่มีสารคล้ายขี้ผึ้งเคลือบที่ใบ
ดังนั้น ที่ใดมีมลพิษมาก อาจเหลือไลเคนไม่มาก หรือหนักจนเข้าขั้นไม่มีไลเคนปรากฏอยู่เลย ที่ใดมลพิษน้อย อากาศดี ไลเคนก็อยู่กันหนาแน่น หลายหลายชนิด โดยเฉพาะชนิดที่ชอบอากาศสะอาด
พูดได้ว่า “ไลเคน” เป็นตัวบ่งชี้มีชีวิตที่บอกถึงคุณภาพอากาศได้ ถ้า “อ่าน” เป็น หลายประเทศทั่วโลกใช้ไลเคนเป็นเครื่องมือทางชีวภาพในการตรวจคุณภาพอากาศควบคู่ไปกับการใช้เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ
“โครงการนักสืบสายลม” ของมูลนิธิโลกสีเขียวจึงเกิดขึ้นจากหลักการดังกล่าวตั้งแต่ปี 2551 โดยได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากหน่วยวิจัยไลเคน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ The British Lichen Society & Natural History Museum of London ที่ผ่านมาโครงการฯ ได้จัดอบรมอาสาสมัคร นักเรียนและคุณครูจากโรงเรียน 51 โรงเรียน รวมทั้งผู้สนใจจากหน่วยงานและกลุ่มต่างๆ รวมทั้งสิ้นเกือบ 400 คน ซึ่งกระจายกำลังกันออกสำรวจคุณภาพอากาศในเขตพื้นที่สีเขียวสาธารณะ เช่น วัด สวนสาธารณะ ทั่วกทม. 214 แห่ง นำมาวิเคราะห์และสรุงจนได้แผนที่คุณภาพอากาศจากการสำรวจไลเคน “ฉบับประชาชน” ขึ้นเป็นครั้งแรก
นอกจากนี้ โครงการฯ ยังจัดทำ หนังสือ “นักสืบสายลม คู่มือสำรวจไลเคนกรุงเทพฯ ตรวจอากาศเมือง” ขึ้นเพื่อเป็นคู่มือประชาชนสำหรับจำแนก สำรวจ และใช้ประเมินคุณภาพอากาศได้ด้วยตนเองด้วย  
           "โลกใบจิ๋วบนเปลือกไม้" สำรวจหาไลเคนว่ามีชนิดไหนบ้าง  ลงข้อมูลเพื่อประเมินคุณภาพอากาศ
   
ภาพประกอบนักสืบชายหาด

ชายหาดที่ดีควรมีทรายขาวดูสะอาดตา...จริงไหม ?
หาดทรายเป็นพื้นที่คล้ายทะเลทรายจึงไม่ค่อยมีสัตว์อาศัยอยู่...เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ?
คนทั่วไปมักคิดอย่างนั้น แต่ที่จริงแล้ว...ไม่ใช่สักหน่อย
เมื่อพูดถึงหาด คนมักคิดถึงแต่หาดทรายขาวทอดยาวสะอาดตา เหมาะแก่การพักผ่อนในวันหยุด แต่ความจริงหาดมีหลายแบบ หาดทราย หาดเลน หาดหิน ต่างมีศักดิ์ศรีนับเป็นหาดที่ดีได้เท่าเทียมกัน
ทุกวันนี้ หาดทรายมีค่าแค่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว หาดเลนกลายเป็นที่เฉอะแฉะเปรอะเปื้อนไม่มีประโยชน์ คิดแต่ว่ามีไว้เพื่อพัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรม ส่วนแนวโขดหินชายฝั่งทะเล ดูเหมือนเป็นหินโสโครกที่เกะกะและอันตราย
ในความเป็นจริงที่ตามักมองไม่เห็น หาดแต่ละหาดมีชีวิตชีวามากกว่านั้น แต่ถ้าเราสังเกตดูดีๆ ไม่ว่าจะเป็นหาดทราย หาดหิน หรือหาดเลน ต่างเป็นบ้านและโรงอาหารของสิ่งมีชีวิตมากมายหลายชนิด สัตว์ใหญ่น้อย กระทั่งพืชที่อาศัยอยู่ริมหาดต้องสุดยอดอดทน สัตว์บางตัวอยู่ในแนวน้ำขึ้นน้ำลง น้ำขึ้นตัวก็เปียก พอน้ำลดตัวแห้ง แถมต้องตากแดดไปทั้งวัน หลายชนิดที่ทนเปียกทนตากแห้งไม่ไหว ก็มักเลือกอาศัยตรงน้ำท่วมนาน ส่วนพืชต้องรับมือกับลมแรง ละอองเกลือ แดดจ้า มีน้ำจืดและแร่ธาตุน้อย เรียกว่าพืชที่ขึ้นชายหาดต้องเป็นสุดยอดนักปรับตัวให้อยู่ในสภาพแวดล้อมรุนแรง
ไม่ใช่แค่นั้น หาดยังมีซากที่ถูกคลื่นซัดขึ้นมาเกยเป็นแนวยาว อาจเป็นซากพืช สัตว์ หรือขยะ ซึ่งบอกร่องรอยของหาดหรือทะเลแห่งนั้นได้ไม่น้อย
“นักสืบชายหาด” จึงเป็นผู้สำรวจปริศนาและความเป็นไปในหาดท้องถิ่น นักสืบชายหาดที่หมั่นเก็บข้อมูลและเฝ้าระวังหาดในท้องถิ่นยังสามารถบอกให้สังคมได้รู้ด้วยว่าควรจะจัดการและดูแลพื้นที่ชายหาดอย่างไร
ปี 2546-2549 มูลนิธิโลกสีเขียวเริ่มทำโครงการนักสืบชายหาดในพื้นที่ชายหาดจังหวัดระนอง โดยเน้นกระบวนการเรียนรู้เชิงสืบค้นให้เยาวชนในจังหวัดระนอง ด้วยจุดประสงค์เบื้องต้นเให้เด็กๆ ในท้องถิ่นรู้จักความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตบนชายหาด รู้จักสร้างองค์ความรู้ในท้องถิ่นของตัวเอง เก็บข้อมูลความเป็นไป และดูแลเฝ้าระวังหาดได้ด้วยตนเอง
ในช่วงเวลาดังกล่าว มูลนิธิฯ ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อเริ่มต้นเฝ้าระวัง “หาดเด็ด” ในท้องถิ่นร่วมกัน โดยมีนักเรียนและครูจากโรงเรียน 19 แห่งในพื้นที่ จ. ระนอง พังงา ภูเก็ต และตรัง รวม 4 จังหวัด อาสากันเป็นนักสืบชายหาดผู้บุกเบิกรุ่นแรก พร้อมด้วยผู้ใหญ่จากองค์กรท้องถิ่น ได้แก่ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติอุทยานแห่งชาติทางทะเล จ. ตรัง กลุ่มระบัดใบ ชมรมป่าสร้างฝัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา และอุทยานแห่งชาติแหลมสน จ. ระนอง ทั้งนี้ “หาดเด็ด” แต่ละแห่งมีลักษณะแตกต่างกันไปและมีข้อมูลจำเพาะของตนเองสำหรับเฝ้าระวังต่อไป
นอกจากนี้ โครงการฯ ยังผลิตหนังสือคู่มือเพื่อการสำรวจสัตว์และพืชชายหาด (นักสืบชายหาด : คู่มือสัตว์และพืชชายหาด) และคู่มือสำหรับใช้ดำเนินกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษา (นักสืบชายหาด : คู่มือดำเนินกิจกรรม) ที่เด็กและผู้ใหญ่นำไปใช้เองได้ด้วย
              กิจกรรมนักสืบชายหาด กิจกรรมนักสืบชายหาด กิจกรรมนักสืบชายหาด



          ที่มา : มูลนิธิโลกสีเขียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น