จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

การสร้างฯ สิ่งแวดล้อม

การสร้างทรัพยากรป่าไม้
          ขณะที่โลกกำลังถูกปกคลุมด้วยกลุ่มก๊าซเรือนกระจกมากเกินสมดุลของธรรมชาติซึ่งก๊าซเรือนกระจกเก็บกักความร้อนไม่ให้สะท้อนออกนอกผิวโลกทำให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มสูงขึ้น        ในความเปลี่ยนแปลงของสภาพธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นหลายฝ่ายได้ร่วมกันรณรงค์หามาตรการป้องกันแก้ไข และจากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่นำเสนอวิธีประหยัดน้ำมัน ต่อเนื่องครั้งนี้ขอนำประโยชน์จากการปลูกต้นไม้มาบอกเล่า เพราะไม่เพียงช่วยลดอุณหภูมิร้อนสร้างอากาศสะอาดสดชื่น ต้นไม้ยังมีความหมายต่อการประหยัดพลังงาน การฟื้นคืนธรรมชาติสร้างความสมดุล อีกทั้งสีสันสวยของดอกไม้ ใบไม้ยังช่วยให้ผ่อนคลายสร้างความสบายใจ
        ต้นไม้ ทุกต้นจึงมีความหมายและจากการตระหนักถึงภาวะโลกร้อน การส่งเสริมปลูกต้นไม้เป็นอีกแนวทางในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดมลพิษทางอากาศ เพิ่มพื้นที่สีเขียวสร้างสิ่งแวดล้อมในเมือง อีกทั้งลดอุณหภูมิ ฯลฯ และจากการศึกษาไม้ยืนต้นที่มีลำต้นสูงใหญ่สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยกระบวนการสังเคราะห์แสง นำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศเข้าสู่คลอโรฟิลล์ที่มีสีเขียวและใช้แสงเป็นแหล่งพลังงานในการเกิดปฏิกิริยาสร้างน้ำตาลและก๊าซออกซิเจนซึ่งต้นไม้ที่นิยมปลูกกลางแจ้ง สามารถดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 30-60 กรัมต่อตารางเมตรพื้นที่ดินต่อวัน ฯลฯ
        กระบวนการสังเคราะห์แสงของพืชจึงมีความสำคัญต่อการช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเพิ่มปริมาณก๊าซออกซิเจนในอากาศซึ่งพืชแต่ละชนิดจะมีความสามารถต่างกัน โดยเฉพาะพืชที่มีขนาดใหญ่ พืชที่อยู่กลางแจ้งจะมีความสามารถในการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า นิคม  ไวยรัชพานิช ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ให้ความรู้ว่า การปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวนอกจากแก้ปัญหาความร้อน สร้างสมดุลการใช้พื้นที่ ต้นไม้ยังกรองมลพิษผลิตออกซิเจนให้กับเมือง อีกทั้งยังสร้างความร่มรื่นผ่อนคลาย
      “ทุกพื้นที่สามารถเลือกปลูกต้นไม้ที่เหมาะสมได้ ไม่ว่าจะเป็นที่ว่างรอบบ้านพักอาศัย ที่ทำงาน ลานจอดรถ สนามกีฬา สนามเด็กเล่น สถานที่ราชการ สวนสาธารณะบนอาคารสูง ถนนหนทางซึ่งถนนหลายสายของกรุงเทพมหานครเป็นถนนต้นไม้ที่ให้ทั้งความร่มรื่น ลดมลพิษทางอากาศ ฯลฯ ในการลดปัญหาภาวะโลกร้อน การเพิ่มพื้นที่สีเขียวช่วยกันปลูก ดูแลต้นไม้เป็นอีกทางหนึ่งที่ทุกบ้านเรือนช่วยได้”
       อย่างที่กล่าวมาการปลูกต้นไม้เลือกได้ตามความชื่นชอบสนใจ บ้านที่มีพื้นที่สามารถปลูกได้ทั้งไม้ใหญ่ ไม้ดอกไม้ประดับซึ่งก็มีหลากหลายพันธุ์ให้เลือก การปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาไม่จำเป็นต้องเลือกหาต้นไม้ที่มีความสูงมากมาปลูก อีกทั้งไม้ที่มีความเปราะก็ไม่ควร เพราะอาจจะมีปัญหาการตัดแต่ง หักโค่น ฯลฯ
       แม้กระทั่งบ้านเรือนที่มีพื้นที่น้อยอยู่ในอาคารสูงก็สามารถช่วยกันปลูกต้นไม้ สร้างอากาศให้สะอาดสดชื่นได้ด้วยการปลูกไม้แขวนไม้กระถางเล็ก ๆ ก็ดูสวยเหมาะสม อย่างบนทางด่วนจะเห็นว่ามีกระถางต้นเฟื่องฟ้า บนอาคารตึกสูงก็มีการจัดสวนเป็นสถานที่พักผ่อนให้ความรู้สึกสดชื่น
       การจัดทำสวนบนหลังคา สวนดาดฟ้าเพื่อให้พื้นที่ส่วนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์กลายมาเป็นสวนที่ใช้ประโยชน์อย่างสมบูรณ์เป็นอีกรูปแบบที่สร้างสีสันความงามให้กับอาคาร รวมทั้งลดอุณห  ภูมิเครื่องปรับอากาศทำงานน้อยลงซึ่งพรรณไม้ที่ปลูกบนสวนดาดฟ้า ตามที่มีข้อมูลแนะนำ ควรที่จะเป็นพรรณไม้เล็กกึ่งเลื้อย ระบบรากไม่ลึกชอบอากาศร้อนทนแล้งแรงลมและต้องเป็นไม้ที่เติบโตได้ดีในกระบะกระถางหรือถุงพลาสติก อาทิ วาสนา บานบุรีหนู กุหลาบหิน ไทร เฟื่องฟ้าหรือจะปลูกจัดสวนด้วย พืชผักสวนครัวก็ดูสวยได้ประโยชน์ ฯลฯ
       ในการจัดสวนก็ต้องคำนึงถึงระบบระบายน้ำ จากบริเวณต่าง ๆ การออกแบบส่วนใช้สอยรวมทั้งเลือกใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบา ทั้งกระถาง วัสดุประกอบสวน เป็นต้น แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะเลือกปลูกต้นไม้ชนิดใด การดูแลบำรุงรักษาเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นเวลาเลือกปลูกต้นไม้ก็ควรศึกษาทั้งสถานที่พันธุ์ไม้ อย่างไม้บางชนิดไม่ชอบที่ชื้นแฉะ ชอบที่แห้งก็ควรเลือกหาให้เหมาะ ต้นไม้ที่มีขนาดความสูงมากเกินก็ต้องระมัดระวัง การปลูกก็ต้องดูทิศทางเพื่อให้ต้นไม้เติบโตให้ร่มเงาสร้างบรรยากาศให้บ้านน่าอยู่อาศัยและลดการใช้พลังงานในบ้านที่ไม่จำเป็นลงได้
       นอกจากนี้ส่วนหนึ่งจากข้อมูลด้านการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงานยังมีข้อแนะนำการปรับปรุงภายนอกตัวบ้าน ซึ่งการปลูกต้นไม้ทรงสูงเพื่อบังแสงอาทิตย์ควรตัดกิ่งให้โปร่งเพื่อให้ลมพัดผ่านลดอุณหภูมิภายนอกใกล้บริเวณบ้าน เลือกชนิดต้นไม้ที่เหมาะสมสำหรับใช้เป็นร่มเงาที่มีอยู่ตามท้องถิ่นซึ่งง่ายต่อการดูแล ลดการใช้ปุ๋ยยาฆ่าแมลง ปลูกพืชคลุมดิน ปลูกหญ้าจัดแต่งสวนเพื่อเป็นฉนวนกันความร้อนให้กับพื้นดิน หากมีพื้นที่จำกัดอาจปลูกไม้ดัดหรือไม้เลื้อยตามระเบียงริมรั้วเพื่อลดลมร้อนพัดผ่านเข้าตัวบ้าน ลดความแรงของแสงแดดที่ส่องผิวอาคาร เป็นต้น
      จากคุณประโยชน์มากมายของต้นไม้ซึ่งไม่เพียงฟื้นคืนอากาศสะอาดสดชื่น การปลูกต้นไม้น้อยใหญ่ยังสร้างเสริมบรรยากาศร่มรื่นคืนความสมดุลธรรมชาติ อีกทั้งการดูแลเอาใจใส่ต้นไม้ยังเป็นนันทนาการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ผ่อนคลาย สำหรับสัปดาห์หน้าพลาดไม่ได้กับเรื่องน่ารู้การใช้ถุงผ้า





                 
การสร้างทรัพยากรดิน น้ำ
         หญ้าแฝกจัดเป็นหญ้าเขตร้อนที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ กระจัดกระจายทั่วไปในสภาพแวดล้อมต่างๆ ซึ่งในประเทศไทยจะพบหญ้าแฝกขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในพื้นที่ทั่วไปจากที่ลุ่มจนถึงที่ดอน สามารถขึ้นได้ในดินเกือบทุกชนิด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vetiveria zizanioides เป็นพืชตระกูลหญ้าขึ้นเป็นกอหนาแน่น เจริญเติบโตโดยการแตกกออย่างรวดเร็ว เส้นผ่าศูนย์กลางกอประมาณ 30 เซนติเมตร ความสูงจากยอดประมาณ 0.5 ถึง 1.5 เมตร ลักษณะใบแคบยาวประมาณ 75 เซนติเมตร ความสูงจากยอดประมาณ 75 เซนติเมตร ความกว้างประมาณ 8 มิลลิเมตร ค่อนข้างแข็ง หากนำมาปลูกติดต่อกันเป็นแนวยาวขวางแนวลาดเทของพื้นที่ กอซึ่งอยู่เหนือดินจะแตกกอติดต่อกันเหมือนรั้วต้นไม้ สามารถกรองเศษพืชและตะกอนดิน ซึ่งถูกน้ำชะล้างพัดพามาตกทับถมดินติดอยู่กับกอหญ้าเกิดเป็นคันดินตามธรรมชาติได้ หญ้าแฝกเป็นพืชที่มีระบบรากลึกเจริญเติบโตในแนวดิ่งมากกว่าออกทางด้านข้างและมีจำนวนรากมากจึงเป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี รากจะประสานติดต่อกันแน่นหนาเสมือนม่านหรือกำแพงใต้ดิน สามารถกักเก็บน้ำและความชื้นได้ ระบบรากแผ่ขยายกว้างเพียง 50 เซนติเมตร โดยรอบกอเท่านั้น ไม่เป็นอุปสรรคต่อพืชที่ปลูกข้างเคียง จัดเป็นมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยให้ดินมีความชื้นและรักษาหน้าดิน เพื่อใช้สำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจ ซึ่งการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำดังกล่าวเป็นวิธีการที่ง่ายน้อยมาก ซึ่งจะเป็นการนำไปสู่การพัฒนาระบบเกษตรกรรมในเขตพื้นที่การเกษตรน้ำฝนให้มีความมั่นคงและยั่งยืน สามารถน้ำวิธีการนี้ไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมและอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น พื้นที่สองข้างของทางคลองชลประทานอ่างเก็บน้ำ บ่อน้ำ ป่าไม้ ป้องกันขอบตลิ่ง คอสะพาน ไหล่ถนน เป็นต้น
         ในสภาพธรรมชาติ หญ้าแฝกมีถิ่นกำเนิดตามพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ทางน้ำธรรมชาติ ริมหนองบึงในป่าเขา แต่เมื่อนำพันธุ์ที่ได้คัดเลือกแล้วไปปลูกในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกปรากฏว่าขึ้นได้เกือบทุกสภาพพื้นที่ กล่าวคือสามารถเจริญเติบโตได้ในสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบใกล้เคียงระดับน้ำทะเลถึงพื้นที่ภูเขาสูงถึง 2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล พื้นที่ดินเปรี้ยวดินด่าง ดินเค็ม ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ พื้นที่มีประมาณน้ำฝนน้อย 200 มิลลิเมตร ถึงพื้นที่มีฝนตกชุก 3,900 มิลลิเมตร ถึง 5,000 มิลลิเมตร พื้นที่สภาพภูมิอากาศหนาวเย็น -9 องศาเซลเซียส ถึงอากาศร้อนจัด 45 องศาเซลเซียส
         ชาวไมซอร์ ประเทศอินเดียปลูกหญ้าแฝกมาแล้วประมาณ 200 ปี เพื่อเป็นอาหารสัตว์ แนวความคิดในการนำหญ้าแฝกมาใช้เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำได้เริ่มขึ้นเมื่อ 50 ปี ที่ผ่านมานี่เองที่หมู่เกาะอินเดียตะวันตก สำหรับเกาะฟิจิบริษัทน้ำตาลปลูกหญ้าแฝก เพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำในไร่อ้อยมาแล้วมากกว่า 30 ปี ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี นายกรีนฟิลด์ นักอนุรักษ์ดินและน้ำฝ่ายวิชาการภูมิภาคเอเซียธนาคารโลก สังเกตเห็นว่าแนวหญ้าแฝกซึ่งปลูกเป็นแถวขวางความลาดชันของพื้นที่ในไร่อ้อยนั้น เมื่อเวลาผ่านไป 30 ปี สามารถทำให้พื้นที่นั้นปรับสภาพลดความลาดชันลงเป็นพื้นที่ขั้นบันไดดินได้โดยธรรมชาติในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ผสมผสานกับเทคนิคการเตรียมดิน และเพาะปลูกพืชหมุนเวียนซึ่งต้องอาศัยเวลา การที่หญ้าแฝกสามารถทำให้เกิดขั้นบันไดดินได้นั้น เนื่องจากหญ้าแฝกมีคุณสมบัติพิเศษ ที่สามารถแตกกอโดยการแตกหน่อที่ข้อของลำต้น หรือเหง้าเหนือดินได้ตลอดเวลาเมื่อตะกอนดินมาทับถมหน้าแถวหญ้าแฝกตั้งกอใหม่อยู่ที่ระดับผิวดินตลอดไปขณะเดียวกันมีระบบรากฝอยที่หยั่งลึกลงไปตามความลึกของดินเกาะยึดดินให้เกิดความมั่นคงแข็งแรง ประกอบกับหญ้าแฝกเป็นพืชที่ไม่ไวต่อช่วงแสง จึงเจริญเติบโตในลักษณะยกตัวสูงขึ้นอยู่เหนือระดับผิวดินที่สูงขึ้นตลอดเวลาดูประหนึ่งว่าขั้นบันไดดินมีชีวิตสามารถงอกเงยสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนกว่าความลาดชันของพื้นที่จะถูกปรับให้อยู่ในแนวระดับแล้ว ขบวนการปรับโครงสร้างเป็นขั้นบันไดดินโดยแนวหญ้าแฝกจึงจะสิ้นสุดลง ต่อจากนั้นจะเป็นขบวนการเพิ่มเติมความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยสร้างหน้าดินให้เป็นดินดีเนื่องจากดินมีความชุ่มชื้นมากขื้น ( แนวรั้วหญ้าแฝกลดการสูญเสียน้ำได้ 25 ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ) พืชพรรณต่าง ๆ จะขึ้นรวมทั้งพืชคลุมดินและบำรุงดินที่ปลูก ใบหญ้าแฝกที่ได้จากการตัด ดูแลรักษาแถวหญ้าแฝก และใช้คลุมดินเหล่านี้จะเป็นการช่วยให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติเช่น เพิ่มอินทรียวัตถุธาตุอาหารพืชแก่ดินเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ดินพืชและสัตว์ในดิน ทำให้ดินมีชีวิตหน้าดินเกิดความอุดมสมบูรณ์ ( ปริมาณธาตุอาหารเมื่อตัดใบหญ้าแฝก อายุ 4 เดือน คลุมดินจะสลายตัวให้ธาตุอาหารพืชแก่หน้าดิน เฉลี่ย N 1.29 %, S 0.15 %, P 0.20 %, K 1.3 % โดยน้ำหนักหญ้าแห้ง) นอกจากนี้หญ้าแฝกมีระบบรากแพร่กระจายไปในแนวลึกมากกว่าออกด้านข้างทำให้แถวหญ้าแฝกต้องการพื้นที่เพื่อการเจริญเติบโตไม่กว้างนัก เช่น แถวหญ้าแฝกที่มีอายุตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ทรงพุ่มทั้งสองข้างรวมกันแล้วจะกินเนื้อที่มีความกว่างไม่เกิน 1.5 เมตร จึงทำให้เสียพื้นที่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับพืชอื่นที่ปลูกเป็นแนวอนุรักษ์เช่นเดียวกันกับหญ้าแฝก หรือเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำอื่น ๆ เช่น คันดินจึงสามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้ใกล้ชิดแถวหญ้าแฝกโดยที่ไม่มีการแข่งขันหรือรบกวนจากหญ้าแฝก
     กล่าวโดยสรุปแล้ว หญ้าแฝกมีคุณสมบัติบางประการที่เหมาะสมต่อการนำมาใช้ในระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ คือ
 คุณสมบัติบางประการของหญ้าแฝก
     1. หญ้าแฝกมีการแตกกอจำนวนมาก เบียดเสียดกันอย่างหนาแน่น และแข็งแรงกอตั้งตรง สามารถปลูกติดต่อกันให้เป็นแถวหน้ากระดานเรียงหนึ่งได้ง่าย เปรียบเสมือนกำแพงต้านทานตะกอนดินที่ถูกน้ำกัดเซาะและพัดพามาให้ตกทับถมด้านหน้าแถวหญ้าแฝก และชะลอความเร็วของน้ำทำให้น้ำเอ่อและไหลซึมลงไปใต้ดิน
     2. ลำต้นเหนือดินซึ่งมีข้อถี่และข้อที่เกิดจากการย่างปล้อง เมื่อหญ้าแฝกมีอายุใกล้ออกดอกจะแตกหน่อและรากใหม่ออกมาเสมอเมื่อตะกอนดินทับถมจึงสามารถตั้งกอใหม่ได้
     3. กอหญ้าแฝกสามารถตัดต้นและใบ ให้แตกหน่อใหม่เขียวสดอยู่เสมอ ต้นและใบใช้เป็นวัสดุคลุมดินรักษาความชุ่มชื้นและเพิ่มแร่ธาตุอาหารพืชให้แก่ดินเมื่อย่อยสลายแล้ว เช่นเดียวกับปุ๋ยหมัก หากหญ้าแฝกแก่ต้นและใบจะแห้ง เมื่อถูกไฟเผาจะแตกหน่อใหม่เขียวสดขึ้นมาทันทีไม่จำเป็นต้องปลูกใหม่ ผลพลอยได้จากหญ้าแฝกดอน สามารถตัดใบไปกรองเป็นตับแฝกซื้อขายทำหลังคาได้ หญ้าแฝกหอมใบอ่อนใช้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยงวัวเลี้ยงควายได้ ซึ่งจะต้องตัดในช่วงอายุ 2 ถึง 4 สัปดาห์ หลังจากตัดครั้งก่อนเช่น หญ้าแฝกกลุ่มพันธุ์กำแพงเพชร 2 นอกจากนี้พันธุ์หญ้าแฝกหอมจากอินเดียใช้เลี้ยงปลาจีนได้ ใบหญ้าแฝกหอมเมื่อตากแห้งดีแล้วนำไปทำพวงหรีดหรือดอกไม้ประดิษฐ์ เครื่องถักจักสาน เช่น หมวก ตะกร้า เป็นต้น
     4. รากหญ้าแฝก หญ้าแฝกมีรากที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วเส้นโตหยั่งลึกลงไปในดิน และแตกแขนงเป็นรากฝอยประสานกันแน่นเหมือนตาข่ายหรือร่างแห เกาะยึดดินให้มีความแข็งแรงมั่นคง การปลูกหญ้าแฝกติดต่อกันระบบรากจะเป็นเสมือนม่านใต้ดินชะลอการไหลซึมของน้ำใต้ดินทำให้ความชื้นในดินเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันการกัดเซาะของน้ำที่ทำให้เกิดร่องขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ซึ่งเกิดขึ้นจากด้านล่างของแนวลาดชันย้อนขึ้นมาด้านบน      เมื่อถึงแนวหญ้าแฝกก็จะหยุดเพียงแค่นั้น ซึ่งกรณีดังกล่าว คันดินไม่สามารถจะหยุดยั้งได้
     รากหญ้าแฝกยังสามารถดูดซึมสารเคมี แร่ธาตุอาหารพืชที่ถูกชะล้างลงไปในดิน เช่น ปุ๋ยเคมี สารเคมีป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืชเก็บไว้ในต้นหญ้าแฝก เป็นการป้องกันไม่ให้สารเคมีเหล่านั้นไหลลงไปยังแหล่งน้ำ และปลอดภัยจากการเกิดมลภาวะของน้ำทำให้น้ำมีคุณภาพ
     ปลูกหญ้าแฝกเพื่อชะลอความแรงของน้ำ
     5. การกระจายพันธุ์ของหญ้าแฝก พันธุ์หญ้าแฝกที่ได้รับการคัดเลือกแล้วจะมีการกระจายพันธุ์ด้วยเมล็ดน้อย หรือแทบไม่มีเลยจึงไม่อยู่ในลักษณะของวัชพืช หรือวัชพืชร้ายแรงเช่น พันธุ์จากอินเดีย ออสเตรเลีย สามารถปลูกได้ในสวนผลไม้และพื้นที่เกษตรทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเขตกรรมและดูแลรักษาเสมอจะไม่ปรากฎว่ามีหญ้าแฝกต้นเล็ก ๆ ที่งอกจากเมล็ดขึ้นในบริเวณกอหญ้าแฝกเลย เช่น หญ้าแฝกหอมที่ปลูกยึดคันนาบริเวณช่องระบายน้ำในแถบ
ภาคใต้จังหวัด สงขลา และนราธิวาส
     6. แถวหญ้าแฝกหรือแนวรั้ว หญ้าแฝกกินเนื้อที่ไม่กว้างเช่นความกว้างประมาณ 1 ถึง 1.5 เมตร สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้ชิดแนวหญ้าแฝก จึงทำให้เสียพื้นที่น้อย
     7. การขยายผล การใช้หญ้าแฝกในระบบอนุรักษ์ดินและน้ำนั้นเกษตรกรสามารถทำเองได้ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปหากพยายามทำความเข้าใจ และประสงค์จะรักษาทรัพยากรที่ดินไม่ให้เสื่อมโทรมมีศักยภาพในการผลิตสูง หรือช่วยป้องกันการกัดเซาะของน้ำไม่ให้เกิดตะกอนดินไหลลงไปทับถมยังแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นผลดีต่อสังคมโดยส่วนรวม
     การปลูกหญ้าแฝกทำได้ง่ายบุคคลทุกอาชีพสามารถช่วยกันปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการกัดเซาะของดินได้ การขยายพันธุ์สามารถทำได้จากการแยกหน่อ หรือต้น ซึ่งหญ้าแฝกมีการเจริญเติบโตแตกกออย่างรวดเร็ว จึงสามารถขยายพันธุ์ได้ตลอดเวลา
     การปลูกหญ้าแฝกสามารถปลูกได้ทุกสภาพพื้นที่ หญ้าแฝกเป็นพืชที่ค่อนข้างมีข้อจำกัดน้อย ยกเว้นบางพื้นที่ ซึ่งมีปัญหาสภาพความรุนแรงของพื้นที่มาก เช่น พื้นที่เค็มจัดชายทะเล กรดจัดเช่นพื้นที่พรุเก่าจะต้องทำการปรับสภาพดินด้วยการใส่ปูนหรือหินฝุ่นเสียก่อ พื้นที่สูงที่ท้องฟ้าปิดเกือบตลอดปีซึ่งมีความเข้มของแสงแดดไม่เพียงพอ เช่น พื้นที่ปางตอง อ. เมือง จ. แม่ฮ่องสอน แต่แก้ไขได้โดยการใช้พันธุ์ท้องถิ่นที่เหมาะสมกับพื้นที่เช่น พันธุ์แม่ฮ่องสอน แม่ลาน้อย ปางมะผ้า หรือพันธุ์ที่นำเข้ามา เช่น พันธุ์พระราชทาน พันธุ์ญี่ปุ่น เป็นต้น
     ค่าใช้จ่ายการปลูกหญ้าแฝกให้เป็นแนวรั้ว หรือแนวพืชเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำนั้น หากทำด้วยเทคนิคที่ถูกต้อง และมีการวางแผนและควบคุมงานที่รัดกุม เช่น ใช้พันธุ์ที่เหมาะสม มีการใช้ปุ๋ยปลูกให้ถูกต้องตามฤดูกาล ใช้หน่อหญ้าแฝกที่มีคุณภาพก็สามารถที่จะลดต้นทุนได้ หรือลงทุนต่ำ เกษตรกรสามารถดำเนินการได้
     ในสภาวะแวดล้อมโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไป คือพื้นที่ป่าไม้ลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้การตกของฝนแปรปรวนไม่แน่นอนความรุนแรงของพายุฝนมีมากขึ้น มีน้ำท่วมฉับพลัน บางพื้นที่แห้งแล้งมีผลกระทบต่อทุกคนทั้งชุมชนเมืองและชนบท การปลูกหญ้าแฝกในระบบอนุรักษ์ดินและน้ำสามารถทำได้อย่างรวดเร็วหากทุกคนมีส่วนร่วมจะปลูกได้เป็นพื้นที่กว้างขวางสามารถป้องกันปัญหาน้ำท่วมอย่างฉับพลัน ลดความแห้งแล้งทั้งในพื้นที่เพาะปลูก และชุมชนเมือง เช่น การปลูกหญ้าแฝกเพื่อชะลอความเร็วของน้ำตามทางน้ำธรรมชาติ และพื้นที่ลาดชันต่าง ๆ

                                         
      วิธีการปลูกแนวรั้วหญ้าแฝก
     1. การปลูกแทนคันดินเพื่อการอนุรักษ์ดินและความชุ่มชื้น
     ปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวตามแนวระดับขวางความลาดเทในต้นฤดูฝนโดยการไถพรวนดิน และทำร่องจำนวน 1 ร่องไถ แล้วปลูกหญ้าแฝกลงในร่องไถระยะปลูกระหว่างต้น หรือกอห่างกันประมาณ 5 เซนติเมตร ปลูก 1 ต้นต่อหลุม หรือเป็น 1 ถึง 3 หน่อต่อหลุม กรณีที่มีการเตรียมกล้าหญ้าแฝกมาอย่างดีแล้ว กลบดินรอบโคนต้นให้แน่นระยะห่างระหว่างแถวแฝกจะไม่เกิน 2 เมตร ตามแนวตั้ง หญ้าแฝกจะเจริญเติบโตแตกกอชิดกันภายใน 4 ถึง 6 เดือน หรือ 1 ถึง 3 ฤดูเพาะปลูกกรณีพื้นที่แห้งแล้งควรตัดหญ้าแฝกให้สูงประมาณ 30 ถึง 50 เซนติเมตร เพื่อเร่งให้มีการแตกกอ 1 ถึง 2 เดือนต่อครั้ง
    ปลูกแทนคันดินเพื่ออนุรักษ์ดิน
   2. การปลูกเพื่อควบคุมร่องน้ำและกระจายน้ำ
     การปลูกหญ้าแฝก เพื่อควบคุมร่องน้ำไม่ให้ถูกกัดเซาะพังทลายมากยิ่งขึ้นและทำให้เกิดคันดินกั้นน้ำจะต้องมีการเตรียมกล้าหญ้าแฝกเป็นอย่างดี เช่น เพาะชำกล้าหญ้าแฝกในถุงพลาสติกจนกระทั่งแตกกอเต็มถุงและแข็งแรงดีแล้วจึงนำไปปลูกในร่องน้ำ โดยขุดหลุมปลูกขวางร่องน้ำเป็นแนวตรง หรือเป็นแนวหัวลูกศรย้อนทางกับทิศทางน้ำไหล อาจใช้กระสอบทรายหรือก้อนหินช่วยทำคันเสริมฐานให้มั่นคงตามแนวปลูกหญ้าแฝก ควรปลูกหญ้าแฝกให้ชิดติดกันยิ่งกว่าวิธีแรก ระยะห่างระหว่างแนวปลูกหญ้าแฝกจะไม่เกิน 2 เมตร ตามแนวตั้ง หลังจากเกิดคันดินกั้นน้ำแล้วจะปลูกหญ้าแฝกต่อจากแนวคันดินกั้นน้ำนั้นออกไปทั้งสองข้างเพื่อเป็นการกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูก
    3. การปลูกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในสวนผลไม้
 การปลูกในสวนผลไม้ระยะที่ไม้ผลยังไม่โต หรือปลูกก่อนที่จะลงไม้ผล ระยะห่างระหว่างแถวของหญ้าแฝกจะขึ้นอยู่กับระยะปลูกของไม้ผล โดยปลูกแถวหญ้าแฝกขนานไปกับแถวของไม้ผลห่างจากแถวไม้ผลพอประมาณ เช่น 1.5 เมตร แถวหญ้าแฝกนอกจากจะป้องกันดินพังทลายและรักษาความชุ่มชื้นของดินตามปกติแล้ว การตัดหญ้าแฝกบ่อย ๆ และนำใบหญ้าแฝกมาคลุมโคนต้นไม้ผล จะเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาความชุ่มชื้นและความอุดมสมบูรณ์ของดินเพิ่มขึ้น
    4. การปลูกกรอบขอบสระเพื่อกรองตะกอนดิน
     ปลูกหญ้าแฝกตามแนวระดับที่ระดับน้ำสูงสุดท่วมถึง 1 แนวและปลูกเพิ่มขึ้นอีก 1 ถึง 2 แนวเหนือแนวแรกซึ่งขึ้นอยู่กับความลึกของขอบสระระยะปลูกระหว่างต้น 5 เซนติเมตรโดยขุดหลุมปลูกต่อเนื่องกันไปและในระยะแรกควรดูแลปลูกซ่อมแซมให้แถวหญ้าแฝกเจริญเติบโตหนาแน่น เมื่อน้ำไหลบ่ามาลงสระตะกอนดินที่ถูกพัดพามากับน้ำจะติดค้างอยู่ที่แถวหญ้าแฝก ส่วนน้ำจะค่อย ๆ ไหลผ่านลงสู่สระ และระบบรากของหญ้าแฝกยังช่วยยึดดินรอบ ๆ ขอบสระไม่ให้เกิดการพังทลาย
     นอกจากนี้ ยังปลูกตามขอบถนน ไหล่ทาง คลองส่งน้ำ พื้นที่ลาดชันทั่ว ๆ ไปเพื่อยึดดินปลูก เพื่อฟื้นฟูดินเสื่อมโทรมเป็นต้น    
     

การใช้ประโยชน์จากใบหญ้าแฝกสำหรับงานศิลปหัตถกรรม     ชนิดของหญ้าแฝกที่มีใบเหมาะสมจะนำมาทำงานหัตถกรรมเป็นกลุ่มหญ้าแฝกหอม  (Vetiveria  zizanioides  Nash )  ได้แก่สายพันธุ์ศรีลังกากำแพงเพชร  2  สุราษฎร์ธานี  และสงขลา  3  เป็นต้น  ลักษณะใบของหญ้าแฝกหอมนี้จะมีใบมันและยาวเมื่อโดนน้ำใบจะนิ่ม  จึงเหมาะจะนำมาทำงานหัตถกรรมได้
       งานหัตถกรรมที่สามารถใช้ใบหญ้าแฝกมาประดิษฐ์ได้แก่  งานหัตถกรรมประเภทเครื่องจักสาน  เครื่องจักสานเป็นงานหัตถกรรมที่เป็นที่นิยมและใช้ได้ทุกสถานที่  ทุกโอกาสสามารถนำมาเป็นของใช้ได้หลากหลาย  เช่น
        ทำเป็นตะกร้าและภาชนะ
       ทำเป็นเครื่องตกแต่งบ้าน
       ทำเป็นเครื่องประดับ
      ทำเป็นของใช้สำนักงาน
        วิธีเตรียมใบหญ้าแฝกก่อนนำมาสานมีวิธีการเตรียมที่ง่ายและสะดวกดดยนำไปหญ้าแใกมาตากแดด  อาจจะตากบนตะแกรงยกพื้น  เพื่อให้อากาศถ่ายเทด้านล่างได้ด้วย  ก็จะทำให้ใบแห้งเร็วยิ่งขึ้น  ใช้เวลาตาก  3-6  วัน หลังจากนี้ก็นำมาจักให้ได้ขนาดตามต้องการ  ก่อนสานควรแช่น้ำหรืออาจจะลูบน้ำที่ใบแฝกขณะที่สานก็ได้  จะช่วยให้ใบนิ่มและไม่บาดมือ
      งานหัตถกรรมเครื่องจักสานที่สามารถใช้ใบหญ้าแฝก
 ผลิตภัณฑ์ตะกร้าและภาชนะได้แก่  ตะกร้า  กระจาด  กระด้ง  และภาชนะรองต่าง ๆ
ุผลิตภัณฑ์เครื่องตกแต่งบ้านได้แก่  นาฬิกาแขวน  กรอบรูป  โป๊ะไฟ  ของตั้งโชว์  ดอกไม้
ุผลิตภัณฑ์เครื่องตกแต่งกาย  ได้แก่  กระเป๋า  หมวก  เข็มขัด  เข็มกลัดติดเสื้อ
ุผลิตภัณฑ์อื่น ๆ  ได้แก่  แฟ้มเอกสาร  ปกไดอารี่
     สำหรับรากหญ้าแฝกที่มีกลิ่นหอม  นำมาประดิษฐ์เป็นพัดไม้แขวนเสื้อ  หรือใช้ผสมรวมกับใบและดอกไม้อบแห้งเป็นบุหงา
      การใช้ประโยชน์จากต้นและใบหญ้าแฝกเป็นวัสดุเพาะเห็ด
      ใบของหญ้าแฝกมีองค์ประกอบทางเคมี  พวก  เซลลูโลส  เฮมิเซลลูโลส  ลิกนิน  และโปรตีนหยาบ  รวมทั้งแร่ธาตุต่าง ๆ  ที่เชื้อราบางชนิดสามารถเจริญเติบโตในกระบวนการของการหมักได้  สามารถนำมาใช้เป็นวัสดุสำหรับเพาะเห็ดได้โดยนำส่วนของต้นและใบหญ้าแฝกมาหั่นเป็นชิ้นขนาด  1-1.5  นิ้ว  แช่น้ำและหมักนานประมาณ  3-4  วัน  บรรจุถุงนึ่งฆ่าเชื้อตามกรรมวิธีของการเตรียมวัสดุเพาะเห็ด  ต่อจากนั้นจึงทำการใส่เชื้อเห็ด  เห็ดที่ขึ้นได้ดีในวัสดุเพาะที่เตรียมจากต้นและใบแฝก  ได้แก่  เห็ดนางรม  เห็ดภูฐาน  เห็ดนางฟ้า  เห็นเป๋าฮื้อ  และเห็ดหอม
      การใช้ประโยชน์จากต้นและใบหญ้าแฝกเป็นวัสดุมุงหลังคา
      คนไทยใช้ส่วนต้นและใบหญ้าแฝกเป็นวัสดุมุงหลังคา  เช่นเดียวกับการใช้ใบจาก  ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้ใบ หญ้าคาที่หาง่ายมาเป็นเวลาช้านาน
       หญ้าแฝกที่นำมาใช้เป็นวัสดุมุงหลังคา  ควรเลือกหญ้าแฝกที่ต้นโตสมบูรณ์  อายุ   1   ปีขึ้นไป  ใบเริ่มเปลี่ยนจากเขียวเป็นเหลือง  แต่ยังไม่แห้งโดยทั่วไปจะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมกราคม  ถึงกุมภาพันธ์  เกษตรกรจะเกี่ยวต้นเหนือดินประมาณ  1  ฝ่ามือหรือต่ำกว่า  นำมาสางเอาใบสั้นหรือเศษใบออก  ผึ่งแดดให้แห้ง และมัดรวมกันไว้เป็นมัดใหญ่  เรียกว่า "โคน" โดยทั่วไป  1  โคนมี  30  กำ  ซึ่งสามารถทำตับแฝกได้  5-7  ตับ  เมื่อต้องการจะทำตับหญ้าแฝกหรือที่เรียกว่า "กรองแฝก"  หรือ "ไพแฝก"  จะใช้ไม้ไผ่หรือไม้รวก  เป็นแกนกลาง  หยิบหญ้าแฝก  1  จับ  หรือ  1  หยิบ  ขนาดเท่าหัวแม่มือหรือประมาณ  5-6  ต้น  ซึ่งประกอบด้วยใบประมาณ  12-16 ใบ  พับ 1/3   ให้ส่วนโคนต้นอยู่ด้านสั้น  และส่วนปลายใบ  เป็นด้านยาว  ต่อจากนั้นใช้เถาวัลย์  ตอก  หรือวัสดุ  อื่น ๆ  มัดให้แฝกเรียงติดกันให้แน่น
       แฝก  1  ตับ  มีความยาว  120 - 170  เซนติเมตร  ประกอบด้วยต้นและใบหญ้าแฝกประมาณ  150  จับ  หรือต้องใช้ต้นหญ้าแฝกประมาณ  750  -  900  ต้นต่อ 1  ตับแฝก  เมื่อมุงหลังคาจะใช้ด้านโคนใบ ( ด้านสั้น )  อยู่ด้านในของเรือน  ส่วนด้านปลายใบ  ( ด้านยาว )  จะอยู่ด้านนอกวางเรียงทับกันจากล่างขึ้นบน
       หญ้าแฝกเป็นวัสดุมุงหลังคาที่มีคุณสมบัติดีกว่าการใช้หญ้าคามากเพราะส่วนต้นและใบของหญ้าแฝกมีไขเคลีอบ  มีกลิ่นหอมเฉพาะตัวและมักจะไม่ถูกแมลงทำลาย  อายุการใช้งานของหลังคาหญ้าแฝกจะขึ้นอยู่กับความประณีตของการกรองแฝกหรือไพแฝกให้เป็นตับ  ต้นและใบหญ้าแฝกที่มีความถี่จะมีความคงทน  รวมทั้งลักษณะการวางตัวแฝกบนหลังคา  ถ้าหลังคาลาดเทมาก  เช่น  หลังคาลาดเทมาก  เช่น  หลังคาเรือนทรงไทย  แฝกจะมีอายุใช้งานได้ทนนานกว่าหลังคาที่เอียงราบ
       การใช้ประโยชน์จากต้นและใบหญ้าแฝกเป็นปุ๋ยหมัก  และพืชคลุมดิน
       ส่วนต้นและใบหญ้าแฝกที่ถูกตัดเพื่อให้ตันแตกกอเจริญเติบโตได้ดีหรือตัดเพื่อควบคุมไม่ให้ออกดอกก็ตาม  ต้นและใบที่ถูกตัดออกมานี้สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการทำปุ๋ยหมักได้เช่นเดียวกับซากพืชชนิดอื่น ๆ  ช่วง  60- 120  วัน  ต้นและใบแฝกจะมีการย่อยสลายเป็นปุ๋ยหมักอย่างสมบูรณ์  ลักษณะอ่อนนุ่ม  ยุ่ย  สีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ  คำนวณได้ว่าปุ๋ยหมักจากใบหญ้าแฝก  1  ตัน  เทียบเท่ากับแอมโมเนียมซัลเฟตได้  43  กิโลกรัม  โดยมีแนวโน้มว่า  ปุ๋ยหญ้าแฝกหมักมีปริมาณธาตุอาหารที่สำคัญได้แก่  ไนโตรเจน  ฟอสฟอรัส  โปแตสเซียม  แคลเซียม  และ  แมกนีเซียม  เพิ่มขึ้นโดยมีค่าเฉลี่ย  0.86, 0.29, 1.12,0.55,  และ 0.41  เปอร์เซ็นต์  ตามลำดับและมีค่าความเป็นกรดด่างเท่ากับ  7.0  นอกจากนี้  ปุ๋ยหมักจากต้นและใบหญ้าแฝก  ยังให้สารปรับปรุงดินหรือกรดฮิวมิกอีกด้วย


                                
      การสร้างทรัพยากรอากาศ
การลดฝุ่นและควันพิษทำได้หลายวิธีจากหลายบุคคลดังนี้         
                           ประชาชนคนเดินถนน...ช่วยได้
  •       ร่วมมือกันรณรงค์เรื่องการลดมลพิษทางอากาศ เมื่อมีโอกาส
  •       เมื่อต้องการเดินทาง พยายามใช้ชนส่งมวลชนเพื่อลดปริมาณรถยนต์ในท้องถนน
  •       แจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบ เมื่อพบเห็นผู้ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ
  •       ปลูกหรือบำรุงรักษาต้นไม้ที่มีอยู่เพราะต้นไม้จะช่วยกรองอากาศเสียให้เป็นอากาศดีได้
ผู้ใช้รถจักรยานยนต์...ช่วยได้
  •     ใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว
  •     ใช้น้ำมันเครื่องลดควันขาวที่ได้มาตรฐาน
  •    ไม่เติมน้ำมันหล่อลื่นลงในถังน้ำมันเชื้อเพลิง
  •     หมั่นตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องยนต์ ตามคำแนะนำของผู้ผลิตอยู่เสมอ
  •     เลือกใช้รถจักรยานยนต์ 4 จังหวะ
ผู้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคล...ช่วยได้
  •     ใช้น้ำมันไร้สารตะกั่ว
  •     เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามกำหนดเวลา
  •     หมั่นตรวจสอบหม้อกรองอากาศ หัวเทียน อุปกรณ์จ่ายน้ำมัน
ผู้ใช้รถยนต์บรรทุก...ช่วยได้
  •     ใช้น้ำมันดีเซลกลั่นอุณหภูมิต่ำ
  •     ไม่บรรทุกน้ำหนักเกินตรวจสภาพเครื่องยนต์อย่างสม่ำเสมอ
  •     การบรรทุก หิน ดิน ทราย ต้องใช้ผ้าคลุมมิดชิดป้องกันฝุ่นฟุ้งกระจาย
  •     ทำความสะอาดล้อรถ ก่อนวิ่งบนถนน
ผู้ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการก่อสร้าง...ช่วยได้
  •     ใช้ผ้าใบ หรือวัสดุอื่นที่สามารถคลุมบริเวณที่ก่อสร้างเพื่อป้องกันฝุ่น
  •     มีรั้วกั้นบริเวณสถานที่ก่อสร้าง
  •     ไม่ใช้ทางเท้า หรือผิวถนน เป็นที่กองวัสดุหรือเป็นที่ผสมปูน
  •     พื้นผิวทางเข้าออกบริเวณก่อสร้าง ควรใช้วัสดุถาวร เช่น ยางแอสฟัลต์หรือคอนกรีต เพื่อ ป้องกันฝุ่น
  •     เก็บกวาด และทำความสะอาด พื้นที่รอบบริเวณก่อสร้างทุกวัน
  •     ทำปล่องสำหรับทิ้งวัสดุจากที่สูง เพื่อป้องกันฝุ่นฟุ้งกระจาย
              



ที่มา: http://www.school.net.th/library/snet6/envi5/fun10/fun10.htm
ที่มา:   http://www.chaipat.or.th/intranet/article/vetiver/vetiver_t.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น